วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

เทศน์มหาชาติ


พุทธศาสนิกชน ชาวไทยได้จัดให้มีขึ้นประจำปี สืบทอดเป็นประเพณีกันมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ประเพณีเทศน์มหาชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคนไทย มาแต่อดีตจนปัจจุบันเพราะเป็นประเพณีที่ให้ทั้งความสนุกสนาน สร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และสอดแทรกการอบรมสั่งสอนศีลธรรมคุณธรรมแก่ประชาชน ผู้ร่วมกิจกรรมไปพร้อมกัน
ที่มา : พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในเทศก์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๔-๖ ตุลาคม ๒๕๓๕ (กรุงเทพฯ : สำนักงานพุทธมณฑล กรมการศาสนา, ๒๕๓๕)

ความเป็นมาของคำว่า มหาชาติและเทศน์มหาชาติ

อันเวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแต่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะปรารถฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสวสสันดรชาดกในที่นี้ เวสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่ยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดก รวมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่องที่เรียกว่า ทศชาติ แต่อีก ๙ เรื่องเหตุใดจึงไม่เรียกว่ามหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวว่า มหาชาติ ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดประทานอธิบายว่า
พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ อย่างคือ
·         ๑. ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
·         ๒. ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
·         ๓. เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
·         ๔. ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
·         ๕. วิริยบารมี ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
·         ๖. สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมาณหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้
·         ๗. ขันติบารมี ทรง อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดนทางมายังเขาวงกตและตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั้น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
·         ๘. เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฏ์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ เพราะเมืองกลิงราษฏร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร โดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
·         ๙. อุเบกขาบารมี เมื่อ ทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
·         ๑๐. อธิษฐานบารมี คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์
จึงเรียกกันว่า มหาชาติ และพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี) กล่าวไว้ว่าพระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดรได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึง ขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการอันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทาง จริยธรรมและความรู้เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดาเพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นาม ว่า มหาชาติ
การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรานิยมเรียกและเป็นที่หมายรู้กันมาแต่สมัยกรุง สุโขทัยราชธานี เพราะปรากฏตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๓ ที่เรียกว่า นครชุม ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) มีกล่าวไว้ว่าธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมมีเทศน์กันมานานแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

เครื่องกัณฑ์เทศน์

ของที่ใส่กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ มีขนมต่างๆ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง เนื้อเค็ม และส้มสุกลูกไม้ตามแต่จะหาได้ มักมีกล้วยทั้งเครือ มะพร้าวทั้งทลาย และอ้อยทั้งต้น ตามคตินิยมว่าเป็นของป่าดังที่มีในเขาวงกต
เครื่องกัณฑ์ที่ถูกแบบแผนปรากฏในเรื่อง ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า เครื่อง กัณฑ์มักมีเครื่องสรรพาหาร ผลไม้กับวัตถุปัจจัยคือเงินตราเรานี่ดีๆ และผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมไม่ใคร่ขาด ที่มีเครื่องบริขารอื่นต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมากบริขาร สำหรับมหาชาติที่ถือว่าถูกแบบแผนนั้น มักจัดเป็นจตุปัจจัยคือ
"ผ้าไตรนั้นอนุโลมเป็นตัว จีวรปัจจัย
สรรพาหาร ผลไม้ อนุโลมเป็น บิณฑบาตปัจจัย
เสื่อ สาด อาสนะ ไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน อนุโลมใน เสนาสนะปัจจัย
ยาและเครื่องยาต่างๆ น้ำผึ้ง น้ำตาล อนุโลมคิลานปัจจัยบริขาร
ส่วนวัตถุปัจจัยได้แก่เงินเหรียญติดเทียนซึ่งปักบนเชิงรองพานตั้งไว้ หากมีผู้บริจาคเงิน ธนบัตรก็ใช้ไม้เล็กๆ คีบธนบัตรปักลงที่เทียนอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ก็ต้องจัดจัดเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ มีเทียนประจำกัณฑ์นี้ เครื่องบูชาอื่นที่เว้นไม่ได้ก็คือฉัตร , ธงรูปชายธง, ธูป, เทียนคาถา, ดอกไม้ อย่างละพันเท่าจำนวนคาถาที่ทั้งเรื่องมี จำนวนหนึ่งพันคาถา มีผ้าเขียนภาพระบายสีหรือปักด้วยไหมเป็นรูปภาพประจำกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ที่เรียกว่า ผ้าพระบฏิ หรือ ภาพพระบฏิ มีพานหมากใส่พูลถวายพระด้วย พานหมากหรือขันใส่หมากนี้ บางแห่งก็ประดับประดาอย่างสวยงามเรียกว่า หมากพนม คือ เอาพานแว่นฟ้าสองชั้น ใส่หมากพลู จัดเป็นรูปพุ่มประดับด้วยฟักทอง มะละกอ เครื่องสดแกะสลัก ประดับด้วยดอกไม้สดก็มีบ้าง สำหรับเทียนคาถาพันหนึ่งนั้น จะแบ่งปักบนขันสาครทำน้ำมนต์เท่าจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์
ในการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ มีจำนวนคาถาและเพลงปี่พาทย์ตามทำนองที่กำหนดไว้ตามลำดับ ดังนี้
·         ๑. กัณฑ์ทศพร ๑๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ สาธุการ
·         ๒. กัณฑ์หิมพานต์ ๑๓๔ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตวงพระธาตุ
·         ๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาโศก
·         ๔. กัณฑ์วนปเวศน ๕๗ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาเดิน
·         ๕. กัณฑ์ชูชก ๗๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เช่นเหล้า
·         ๖. กัณฑ์จุลพน ๓๕ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ คุกพาทย์
·         ๗. กัณฑ์มหาพน ๘๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เชิดกล้อง
·         ๘. กัณฑ์กุมาร ๑๐๑ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ โอดเชิดฉิ่ง
·         ๙. กัณฑ์มัทรี ๙๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ทยอยโอด
·         ๑๐. กัณฑ์สักบรรพ ๔๓ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลม
·         ๑๑. กัณฑ์มหาราช ๖๙ คาถา พลงประจำกัณฑ์คือ กราวนอก
·         ๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ ๓๖ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตระนอน
·         ๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ ๔๘ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลองโยน
กล่าวคือ ถ้าพระสงฆ์จะเทศน์กัณฑ์ทศพรก็จุดเทียน ๑๙ เล่ม กัณฑ์หิมพานต์ก็จุดเทียนคาถา ๑๓๙ เล่ม ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น