วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

เทศน์มหาชาติ


พุทธศาสนิกชน ชาวไทยได้จัดให้มีขึ้นประจำปี สืบทอดเป็นประเพณีกันมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบไทยๆ ประเพณีเทศน์มหาชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคนไทย มาแต่อดีตจนปัจจุบันเพราะเป็นประเพณีที่ให้ทั้งความสนุกสนาน สร้างความสมานสามัคคีในชุมชน และสอดแทรกการอบรมสั่งสอนศีลธรรมคุณธรรมแก่ประชาชน ผู้ร่วมกิจกรรมไปพร้อมกัน
ที่มา : พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกในเทศก์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๔-๖ ตุลาคม ๒๕๓๕ (กรุงเทพฯ : สำนักงานพุทธมณฑล กรมการศาสนา, ๒๕๓๕)

ความเป็นมาของคำว่า มหาชาติและเทศน์มหาชาติ

อันเวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแต่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะปรารถฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสวสสันดรชาดกในที่นี้ เวสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่ยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดก รวมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่องที่เรียกว่า ทศชาติ แต่อีก ๙ เรื่องเหตุใดจึงไม่เรียกว่ามหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวว่า มหาชาติ ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดประทานอธิบายว่า
พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ อย่างคือ
·         ๑. ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
·         ๒. ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
·         ๓. เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
·         ๔. ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
·         ๕. วิริยบารมี ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
·         ๖. สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมาณหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้
·         ๗. ขันติบารมี ทรง อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดนทางมายังเขาวงกตและตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั้น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
·         ๘. เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฏ์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ เพราะเมืองกลิงราษฏร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร โดยอ้างว่าตนได้รับความลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
·         ๙. อุเบกขาบารมี เมื่อ ทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
·         ๑๐. อธิษฐานบารมี คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์
จึงเรียกกันว่า มหาชาติ และพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี) กล่าวไว้ว่าพระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดรได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึง ขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการอันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทาง จริยธรรมและความรู้เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดาเพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นาม ว่า มหาชาติ
การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรานิยมเรียกและเป็นที่หมายรู้กันมาแต่สมัยกรุง สุโขทัยราชธานี เพราะปรากฏตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๓ ที่เรียกว่า นครชุม ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) มีกล่าวไว้ว่าธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมมีเทศน์กันมานานแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี

เครื่องกัณฑ์เทศน์

ของที่ใส่กระจาดเป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ มีขนมต่างๆ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร ปลาแห้ง เนื้อเค็ม และส้มสุกลูกไม้ตามแต่จะหาได้ มักมีกล้วยทั้งเครือ มะพร้าวทั้งทลาย และอ้อยทั้งต้น ตามคตินิยมว่าเป็นของป่าดังที่มีในเขาวงกต
เครื่องกัณฑ์ที่ถูกแบบแผนปรากฏในเรื่อง ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า เครื่อง กัณฑ์มักมีเครื่องสรรพาหาร ผลไม้กับวัตถุปัจจัยคือเงินตราเรานี่ดีๆ และผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมไม่ใคร่ขาด ที่มีเครื่องบริขารอื่นต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมากบริขาร สำหรับมหาชาติที่ถือว่าถูกแบบแผนนั้น มักจัดเป็นจตุปัจจัยคือ
"ผ้าไตรนั้นอนุโลมเป็นตัว จีวรปัจจัย
สรรพาหาร ผลไม้ อนุโลมเป็น บิณฑบาตปัจจัย
เสื่อ สาด อาสนะ ไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน อนุโลมใน เสนาสนะปัจจัย
ยาและเครื่องยาต่างๆ น้ำผึ้ง น้ำตาล อนุโลมคิลานปัจจัยบริขาร
ส่วนวัตถุปัจจัยได้แก่เงินเหรียญติดเทียนซึ่งปักบนเชิงรองพานตั้งไว้ หากมีผู้บริจาคเงิน ธนบัตรก็ใช้ไม้เล็กๆ คีบธนบัตรปักลงที่เทียนอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ก็ต้องจัดจัดเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ มีเทียนประจำกัณฑ์นี้ เครื่องบูชาอื่นที่เว้นไม่ได้ก็คือฉัตร , ธงรูปชายธง, ธูป, เทียนคาถา, ดอกไม้ อย่างละพันเท่าจำนวนคาถาที่ทั้งเรื่องมี จำนวนหนึ่งพันคาถา มีผ้าเขียนภาพระบายสีหรือปักด้วยไหมเป็นรูปภาพประจำกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ที่เรียกว่า ผ้าพระบฏิ หรือ ภาพพระบฏิ มีพานหมากใส่พูลถวายพระด้วย พานหมากหรือขันใส่หมากนี้ บางแห่งก็ประดับประดาอย่างสวยงามเรียกว่า หมากพนม คือ เอาพานแว่นฟ้าสองชั้น ใส่หมากพลู จัดเป็นรูปพุ่มประดับด้วยฟักทอง มะละกอ เครื่องสดแกะสลัก ประดับด้วยดอกไม้สดก็มีบ้าง สำหรับเทียนคาถาพันหนึ่งนั้น จะแบ่งปักบนขันสาครทำน้ำมนต์เท่าจำนวนคาถาของแต่ละกัณฑ์
ในการเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ มีจำนวนคาถาและเพลงปี่พาทย์ตามทำนองที่กำหนดไว้ตามลำดับ ดังนี้
·         ๑. กัณฑ์ทศพร ๑๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ สาธุการ
·         ๒. กัณฑ์หิมพานต์ ๑๓๔ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตวงพระธาตุ
·         ๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาโศก
·         ๔. กัณฑ์วนปเวศน ๕๗ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาเดิน
·         ๕. กัณฑ์ชูชก ๗๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เช่นเหล้า
·         ๖. กัณฑ์จุลพน ๓๕ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ คุกพาทย์
·         ๗. กัณฑ์มหาพน ๘๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เชิดกล้อง
·         ๘. กัณฑ์กุมาร ๑๐๑ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ โอดเชิดฉิ่ง
·         ๙. กัณฑ์มัทรี ๙๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ทยอยโอด
·         ๑๐. กัณฑ์สักบรรพ ๔๓ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลม
·         ๑๑. กัณฑ์มหาราช ๖๙ คาถา พลงประจำกัณฑ์คือ กราวนอก
·         ๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ ๓๖ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตระนอน
·         ๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ ๔๘ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลองโยน
กล่าวคือ ถ้าพระสงฆ์จะเทศน์กัณฑ์ทศพรก็จุดเทียน ๑๙ เล่ม กัณฑ์หิมพานต์ก็จุดเทียนคาถา ๑๓๙ เล่ม ฯลฯ

มงคลสูตรคำฉันท์


มงคลสูตรคำฉันท์  เป็นวรรณคดี  คำสอน  ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำหลักธรรม ที่เป็นพระคาถาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นคำประพันธ์ที่ ไพเราะ  มีความงดงามทั้งด้านเสียงและความหมาย  สามารถจดจำได้ง่าย  มงคลสูตรคำฉันท์นี้จะเกิดแต่ตัวเราเองได้ก็ต้องเป็นผลมาจากการประพฤติ ปฏิบัติดีของตนเองเท่านั้น  หาได้มาจากปัจจัยอื่นเลย
         ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
       ลักษณะคำประพันธ์ :  กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ แทรกคาถาบาลี
       จุดมุ่งหมายในการแต่ง : เพื่อให้ตระหนักว่าสิริมงคลจะเกิดแก่ผู้ใดก็เพียงผลมาจากการปฏิบัติของตนทั้งสิ้นไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะทำให้เกิดสิริมงคลแก่เราได้  นอกจากตัวเราเอง
        ความเป็นมา
         เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำมงคลสูตรมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์  โดยใช้คำประพันธ์ ๒ ชนิดคือ  กาพย์ฉบัง ๑๖ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ทรงนำคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นร้อยกรองภาษาไทย  ได้ถูกต้องตรงตามบังคับในฉันทลักษณ์โดยไม่เสียเนื้อความจากพระคาถาบาลี  การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาได้อย่างดียิ่ง
“อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
หนึ่งคือบ่คบพาล  เพราะจะพาประพฤติผิด
หนึ่งคบกะบัณฑิต  เพราะจะพาประสบผล
หนึ่งกราบและบูชา อภิบูชนีย์ชน
ข้อนี้แหละมงคล  อดิเรกอุดมดี”
        เรื่องย่อ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการ  ไว้ในมงคลสูตร  ซึ่งเป็นพระสุตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา  มงคลสูตรปรากฏในพระสุตตันตปิฏก  ขุททกนิกาย  หมวดขุททกปาฐะ พระอานนทเถระได้กล่าวถึงที่มาของมงคลสูตรว่า  ท่านได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ณ เชตวันวิหาร  กรุงสาวัตถี มงคลสูตรนี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจคำถาม  คือ  พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า  มีเทวดาเข้ามาทูลถามพระองค์เรื่องมงคล  เพราะเกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้นทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์  ที่มีลัทธิเรื่องมงคลแตกต่างกันเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี  ท้าวสักกเทวราชจึงทรงมอบหมายให้ตนมาทูลถาม  พระพุทธองค์จึงตรัสตอบเรื่องมงคล ๓๘ ประการ  ต่อจากราตรีนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องมงคลนี้แก่พระอานนท์อีกครั้ง หนึ่ง
        ใจความสำคัญของมงคลสูตรคำฉันท์
คาถาบทที่ ๑         ไม่ควรคบคนชั่วเพราะจะพาให้เราประพฤติชั่วไปด้วย  ควรคบคนดีมีความรู้เพราะจะนำเราไปสู่ความสำเร็จ และควรบูชาคนดี
คาถาบทที่ ๒          ควรปฏิบัติตนและอยู่ในที่ที่เหมาะที่ควรแห่งตน  ทำบุญไว้แต่ปางก่อน
คาถาบทที่ ๓          รู้จักฟัง  รู้จักพูด  มีวินัย  ใฝ่ศึกษาหาความรู้
คาถาบทที่ ๔          ดูแลบิดามารดา  บุตร  ภรรยาเป็นอย่างดี  ทำงานด้วยความตั้งใจ
คาถาบทที่ ๕          รู้จักให้ทาน  ช่วยเหลือญาติพี่น้อง  ทำแต่ความดี  มีสัมมาอาชีพ
คาถาบทที่ ๖          ไม่ประพฤติชั่ว  ไม่ละเลยในการประพฤติ  เว้นการดื่มน้ำเมา
คาถาบทที่ ๗          ให้ความเคารพผู้ควรเคารพ  มีความอ่อนน้อมถ่อมตน  มีความพอใจในสิ่งที่ตนมี  มีความกตัญญูรู้คุณ  และ รู้จักฟัง  ธรรมในโอกาสอันควร
คาถาบทที่ ๘          มีความอดทน  ว่านอนสอนง่าย  หาโอกาสพบผู้ดำรงคุณธรรมเพื่อสนทนาธรรม
คาถาบทที่ ๙          พยายามกำจัดกิเลส  ประพฤติพรหมจรรย์  เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิตเพื่อจิตสงบถึงซึ่งนิพพาน
คาถาบทที่ ๑๐        มีจิตอันสงบ  รู้จักปล่อยวางไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบ
คาถาบทที่ ๑๑        เทวดาและมนุษย์ปฏิบัติสิ่งที่เป็นมงคลเหล่านี้แล้วจะไม่พ่ายแพ้ให้แก่ข้าศึกทั้งปวงมีแต่ความสุขความเจริญทุกเมื่อ


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๕ ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญ    พระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์   บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ” พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล  แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน  ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ  จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ ( แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพ ฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้  ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย
ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

หลักการอ่านคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์
      ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย โดยแต่งกันเป็นคณะ มี ครุ และ ลหุ และสัมผัส กำหนดเอาไว้ด้วย ฉันท์ในภาษาไทยได้ถ่ายแบบมาจากประเทศอินเดีย ตามตำราที่เขียนถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้ เรียกว่า “ คัมภีร์วุตโตทัย ” ซึ่งแต่เดิมฉันท์จะแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต
ต่อมา เมื่อเผยแพร่ในประเทศไทย จึงเปลี่ยนแบบมาแต่งในภาษาไทย โดยเพิ่มเติมสัมผัสต่าง ๆ ขึ้นมา แต่ยังคงคณะ ( จำนวนคำ ) และเปลี่ยนลักษณะครุ – ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไปอีกด้วย
การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์ที่ถูกต้องไพเราะ  จำเป็นต้องรู้จักลักษณะบังคับทั่วไปของของคำฉันท์ และ ลักษณะเฉพาะของคำฉันท์แต่ละชนิด  ฉันท์มีลักษณะบังคับพิเศษแตกต่างกับคำประพันธ์ชนิดอื่น โดยบังคับคำลหุ คำครุ แทนคำธรรมดา นอกจากนี้ยังบังคับสัมผัสเช่นเดียวกับคำประพันธ์ชนิดอื่น  การอ่านทำนองเสนาะคำฉันท์มีหลักเกณฑ์การอ่านเหมือนกับคำประพันธ์ทั่วไป คือ
๑.  อ่านทอดจังหวะคำแต่ละวรรคตามแต่ชนิดของฉันท์
๒. อ่านออกเสียงคำให้ถูกต้องตามลักษณะบังคับลหุครุของฉันท์แต่ละชนิด
๓.  คำสุดท้ายวรรคที่ใช้คำเสียงจัตวา  ต้องอ่านให้เสียงสูงเป็นพิเศษ เพื่อความไพเราะ ใช้คำเสียงจัตวาตรงท้ายคำบาทแรก
๔.  อินทรวิเชียรฉันท์ แบ่งจังหวะการอ่านวรรคหน้า ๒ จังหวะ จังหวะ ๒ คำ และ จังหวะ ๓ คำ วรรคหลัง ๒ จังหวะ จังหวะละ ๓ คำ
รอนรอน / และอ่อนแสง                   นภะแดง / สิแปลงไป
เป็นคราม / อร่ามใส                                สุภะสด / พิสุทธิ์สี
การอ่านคำประพันธ์ประเภทฉันท์จะแตกต่างจากคำประพันธ์ประเภทอื่น  เนื่องจากการอ่านฉันท์จะต้องอ่านตามฉันทลักษณ์ ครุ – ลหุ ของฉันท์ แต่ละชนิด ดังเช่น อินทรวิเชียรฉันท์ต้องอ่านออกเสียงดังนี้
เสียงเจ้าสิพรากว่า                            ดุริยางคดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย                                             สุรศัพทเริงรมย์
เสียง- เจ้า / สิ- พราก- ว่า                  ดุ-ริ-ยาง / คะ-ดีด-ใน
ฟาก-ฟ้า / สุ-รา-ไล                                         สุ-ระ-สับ / ทะ-เริง-รม

หลักการดู
ประเภทของการดู
การดูมี ๒ ประเภท คือ
๑. การดูจากของจริง เช่น การชมการสาธิต การไปทัศนาจร ฯลฯ
๒. การดูผ่านสื่อ เช่น สื่อโทรทัศน์  ภาพถ่าย สื่อหนังสือพิมพ์  สื่อภาพยนตร์ สัญลักษณ์ ฯลฯ
หลักการดูที่ดี
๑.  ดูอย่างมีจุดมุ่งหมาย
คือ ดูไปเพื่ออะไร เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน หรือ เพื่อให้ได้ข้อคิดในการนำไปปฏิบัติตาม
๒.  ดูในสิ่งที่ควรดู
เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยเรียน  ควรดูรายการที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน ได้แก่ รายการตอบปัญหาทางวิชาการ รายการที่มุ่งให้แนวทางการปฏิบัติตนให้เหมาะสม ฯลฯ
๓.  ดูอย่างมีวิจารณญาณ
ให้ดูและคิดไตร่ตรองหาเหตุและผลทุกครั้ง
๔.  ดูแล้วนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี



ประวัติผู้แต่ง
                      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นผู้ถวายพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดากิติวัฒนาดุลโสภาคย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรง พระปรีชาสามารถ ในด้านต่างๆ ด้านภาษาและวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมร้อยแก้ว ร้อยกรอง และงานแปล งานพระราชนิพนธ์ที่รู้จักแพร่หลาย ได้แก่ ย่ำแดนมังกร แก้วจอมซน ดั่งดวงแก้ว เป็นต้น


จุดมุ่งหมายในการแต่ง

                      เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา

ลักษณะคำประพันธ์                                                                      
                     ร้อยแก้ว  ประเภทบทความ

ความเป็นมา
                      ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533  ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ รอบ  โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รุ่นที่ 41  พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนาซึ่งมีสภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันนัก

เรื่องย่อ
                      เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ- สยามบรมราชกุมารีได้ทรงยกบทกวีของจิตร  ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
                      ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า
 มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ  ชาวนาเท่าที่ควร  ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ  ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร  
ภูมิศักดิ์ และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอบทกวีที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองท่าน มีแนวความคิดที่คล้ายกัน คือมุ่งที่จะกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนาและทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย                                  
                     
ข้อคิดที่ได้รับ    
                      1. ทำให้เข้าใจความรู้สึกของชาวนาที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ
                      2. ทำให้ได้รู้ถึงความทุกข์ยากความลำบากของชาวนาในการปลูกข้าว
                      3. ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าของข้าวที่ได้รับประทานเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์

คำศัพท์
กำซาบ
ซึมเข้าไป
เขียวคาว
สีเขียวของข้าว  ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว  เพราะข้าวนี้                   เกิดจากหยาดเหงื่อ  ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
จำนำพืชผลเกษตร
การนำผลผลิตทางการเกษตร  เช่น  ข้าวไปฝากกับหน่วยงานที่รับฝากไว้ก่อนเพื่อเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
ฎีกา
คำร้องทุกข์  การร้องทุกข์
ธัญพืช
มาจากภาษาบาลีว่า  ธัญพืช  เช่น  ข้าว  ข้าวสาลี  ข้าวโพด  ที่ให้เมล็ด                        เป็นอาหารหลัก
นิสิต
ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
ประกันราคา
การที่รัฐ  เอกชน  หรือองค์กรต่าง ๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคา             ที่กำหนดไว้ในอนาคต  ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
เปิบ
หรือ  เปิบข้าว  หมายถึง  วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
พืชเศรษฐกิจ
พืชที่สามารถขายได้ราคาดี  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย  ปาล์มน้ำมัน
ภาคบริการ
อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น  เช่น  พนักงานในร้านอาหาร  ช่างเสริมสวย
วรรณศิลป์
ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ


สวัสดิการ
การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดี                          และมีความสะดวกสบาย  เช่น  มีสถานพยาบาล  มีที่พักอาศัย  จัดรถรับส่ง
สู
สรรพนามบุรุษที่ 2  เป็นคำโบราณ
อาจิณ
 ประจำ
อุทธรณ์
ร้องเรียน  ร้องทุกข์
ลำเลิก
กล่าวทวงบุญคุณ กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง  เพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น



ความรู้เพิ่มเติม
                      บทความ หมายถึง รูปแบบการเขียนประเภทหนึ่ง ที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร ข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้อ่าน โดยเนื้อหานำเสนอจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องแต่งหรือคิดขึ้นเองจากจินตนาการ  บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป จะมีเนื้อหาหลายลักษณะ เช่น หยิบยกปัญหา เหตุการณ์ หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจมาแสดงความคิดเห็น หรือผู้เขียนเสนอความคิดเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านหรือทั้งสนับสนุนและคัดค้านความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันของคนอื่นๆ เป็นต้น

วิเคราะห์วิจารณ์
                      การแต่งทุกข์ของชาวนาในบทกวีนับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็น-แบบอย่างได้  ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน  ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน เนื้อเรื่องวิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวี ของจิตร ภูมิศักดิ์  และองหลี่เชิน  โดย ทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ  สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิง วรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้
การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีนว่า เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน
คือหลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง

สรุป
                      พระราชนิพนธ์เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย  ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก  เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ  ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน  ตลอดทั้งปี  ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค  จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย